จังหวัดหนองคายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านสินค้าเกษตร ภาคเกษตรกรรมถือเป็นตัวนำเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลผลิตไม่น้อยที่ราคาตกต่ำลงจนเกษตรกรต้องขาดทุน เช่น ข้าว ยางพารา สับปะรด “แสงพศิน เมล่อนฟาร์ม” จาก ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย จึงปรับตัวจากการปลูกพืชเศรษฐกิจหลักที่ราคาตกต่ำหันมาปลูกเมล่อนเพิ่ม จนสร้างรายได้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ปีแล้ว

“นาวิน ลิ้มมณีประเสริฐ” เจ้าของแสงพศิน เมล่อนฟาร์ม บอกว่า แสงพศิน เมล่อนฟาร์ม เป็นฟาร์มปลูกเมล่อนใหญ่อันดับต้นของจังหวัดหนองคาย แต่มีพื้นที่ปลูกในโรงเรือนประมาณ 200 ตร.ว. 200-240 ต้นเท่านั้น เพราะยังไม่มีเกษตรกรรายอื่นในจังหวัดหันมาจับตลาดเมล่อนอย่างจริงจัง บางรายเริ่มปลูกก็ล้มเลิกไปหรือปลูกแล้วก็ไม่ขยายพื้นที่เพิ่ม

“เดิมนั้นผมปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่แล้วทั้งสับปะรดและยางพาราซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลัก แต่ปรากฏว่าราคาตกต่ำทำให้ขาดทุน จึงได้หันมาปลูกเมล่อนเพิ่มเติมเหมือนงานอดิเรกเพื่อหารายได้ให้กับครอบครัวมากขึ้น ที่เลือกเมล่อนเพราะเป็นพืชอายุสั้นสามารถสร้างรายได้ให้เร็ว เพียงแต่ต้องมีการปลูกในโรงเรือนเพื่อให้ง่ายในการดูแลเรื่องโรคและแมลง”

นาวิน” เล่าว่า ก่อนจะตัดสินใจปลูกเมล่อนนั้นได้หาข้อมูลความรู้ในอินเทอร์เน็ตก่อน ดูจากเกษตรกรหลายคนที่ปลูกเมล่อนผ่านช่องทาง YouTube ศึกษาจากแหล่งที่ขายเมล็ดพันธุ์ เก็บรายละเอียดตั้งแต่เพาะต้นกล้า การให้น้ำให้ปุ๋ย และบำรุงรักษาต้นจนสามารถเก็บผลผลิตได้ ส่วนสายพันธุ์ที่ปลูกก็ดูความเหมาะสม เช่น พันธุ์สีทอง ไข่ทองคำ หรือจันทร์ฉาย เมื่อปลูกแล้วมีระยะในการเลี้ยงต้นก่อนจะผสมเกษรดอกอยู่ที่ 28-30 วัน หลังจากมีการผสมเกษรดอกนับไปอีก 35 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ ส่วนสายพันธุ์ตาข่ายแบบญี่ปุ่น จะมีระยะเวลาเก็บผลผลิตได้หลังจากผสมเกษรดอกอยู่ที่ 45-50 วัน ทุกสายพันธุ์สามารถปลูกในแปลงเดียวกันได้ ไม่มีการกลายพันธุ์ เนื่องจากใช้วิธีผสมดอก ไม่ใช้แมลงผสมดอกตามธรรมชาติ

แต่ละสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของรสชาติ กลิ่น และลายของตาข่าย เช่น พันธุ์สีทอง ไข่ทองคำ หรือจันทร์ฉาย ที่มีผิวเรียบ มีรสชาติหวานกรอบ เวลาเคี้ยวในปากจะเหมือนเคี้ยวสาลี่ เป็นรสชาติที่ผู้บริโภคในจังหวัดหนองคายชื่นชอบ ส่วนสายพันธุ์ตาข่ายจะหวานน้อยกว่าสายพันธุ์สีทอง ให้กลิ่นที่หอมแบบดั้งเดิมของเมล่อนญี่ปุ่น ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ผลผลิตที่ได้มาตรฐานจะมีน้ำหนัก 1.5 กก./ลูกขึ้นไป สำหรับราคาผลผลิต สายพันธุ์สีทองเริ่มต้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท สายพันธุ์ตาข่ายราคากิโลกรัมละ 100 บาท

“เราตั้งใจจะปลูกเมล่อนคุณภาพเพื่อขายให้กับคนไทยในราคาซึ่งผู้บริโภคในพื้นที่สามารถซื้อทานได้ ที่สำคัญสามารถเป็นทางเลือกให้เกษตรกรที่สนใจศึกษาปลูกได้ สำหรับแสงพศิน เมล่อนฟาร์ม มีรายได้จากการขายผลเมล่อนสดเฉลี่ย 39,000 บาท/3 เดือน ส่วนที่ตกเกรดไม่ได้มาตรฐานก็นำมาทำเป็นพานาคอตต้า (Pana Cotta) ถ้วยละ 30 บาท ขายได้เฉลี่ยประมาณ 9,000 บาท/เดือน ซึ่งนอกจากขายที่หน้าฟาร์มแล้ว จะส่งให้กับลูกค้าประจำในต่างจังหวัดทั่วประเทศผ่านบริษัทขนส่ง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมกับโครงการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีตลาดผู้ผลิตพบผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดหนองคายให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชเสริมพืชหลักอย่างเมล่อนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สร้างรายได้นับแสนบาทให้กับเจ้าของแสงพศิน เมล่อนฟาร์ม หากประเมินการขายผลสดโดยประมาณแล้วจะมีรายได้กว่า 117,000 บาท/ปี และนำมาทำเป็นพานาคอตต้าอีก 108,000 บาท/ปี นอกจากนี้ ยังมีบัตเตอร์นัตคล้ายกับฟักทอง ที่ชาวบ้านในจังหวัดหนองคายนิยมในการบริโภค สามารถขายผลผลิตที่หน้าฟาร์มได้เลย บางส่วนที่ไม่ผ่านการคัดเกรดจะนำไปแปรรูปเป็นน้ำบัตเตอร์นัตขายผ่านทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังได้ขายผ่านโซเชียลจนขยายตลาดได้ไกลถึงจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับผลตอบรับจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี

แหล่งที่มา https://www.prachachat.net/local-economy/news-468054