(ภาพจาก : เว็บไซต์ สวทช.)

ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ไบโอเทคและโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP : ไอแทป) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร พัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ระบบอาหารเหลว และนำเอาระบบไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตต้นพันธุ์ของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อลดต้นทุนแรงงานและระยะเวลาในการพัฒนาต้นกล้าพันธุ์ดีให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

ที่ผ่านมาไบโอเทค นำเอาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่มีอายุยาว เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว อยู่แล้ว โดยจะเลือกใช้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อพืชที่กำลังมีการพัฒนา ได้แก่ เนื้อเยื่อเจริญ ใบอ่อน ช่อดอกอ่อน ตาข้าง มาฟอกฆ่าเชื้อและเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งมีธาตุอาหารและสารควบคุมการเจริญเติบโต ซึ่งปกติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนใหญ่จะใช้ระบบอาหารแข็งในการชักนำให้เกิดกลุ่มเซลล์ที่สามารถพัฒนาไปเป็นต้นอ่อนได้ เรียกว่า แคลลัส (callus) และจึงพัฒนาเป็นต้นอ่อนสมบูรณ์ในสภาพปลอดเชื้อเพื่อออกสู่เกษตรกรต่อไป

ดร.ยี่โถกล่าวต่อว่า ระบบไบโอรีแอคเตอร์ ยังสามารถควบคุมสารอาหารเพื่อกระตุ้นให้เกิดสารออกฤทธิ์ตามที่เราต้องการในพืชสมุนไพรบางชนิดได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุน แรงงาน และเวลา อาทิ การขยายพันธุ์พืชสมุนไพรหลายๆ ชนิด ซึ่งปัจจุบันคณะผู้วิจัยกำลังพัฒนาระบบการขยายต้นพันธุ์ขมิ้นชันรวมถึงพืชในตระกูลขมิ้นอื่นๆ เช่น ว่านมหาเมฆ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย ขมิ้นขาว และพืชสมุนไพรประเภทเหง้าหรือหัว เช่น กระชายดำ เป็นต้น โดยวิธีการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุรักษ์สายพันธุ์พืชสมุนไพร โดยเฉพาะว่านต่างๆซึ่งเริ่มหายากแล้ว

แหล่งที่มา https://www.thairath.co.th/news/society/1869151